เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ 'แมลงสาบ' (Cockroaches)
แมลงสาบมีความสําคัญทางการแพทย์และสาธารณสุข เนื่องจากเป็นพาหะสําคัญที่นําเชื้อโรคต่างๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อราหรือโปรโตซัว ติดต่อมาสู่มนุษย์ได้โดยที่เชื้อโรคเหล่านี้ติดมากับขาหรือลําตัวแมลงสาบขณะออกหากินตามบริเวณที่สกปรกหรือเชื้อโรคเหล่านี้อาจถูกแมลงสาบกินเข้าไปสะสมในระบบทางเดินอาหาร ทําให้เชื้อโรคต่างๆสามารถปนเปื้อนในอาหารหรือภาชนะที่แมลงสาบเดินผ่านได้ กลไกการแพร่เชื้อโรคของแมลงสาบจึงเกิดจากพฤติกรรมการออกหาอาหารและการกินอาหารของแมลงสาบที่ชอบหาอาหารตามสิ่งปฏิกูลและระหว่างเดิน จะสำรอกและถ่ายมูลไปตลอดทาง ดังนั้นโรคที่นำโดยแมลงสาบส่วนใหญ่จึงเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์และอาหารเป็นพิษ เป็นต้น อย่างไรก็ตามแมลงสาบยังสามารถเป็นพาหะก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคเรื้อน กาฬโรค ตับอักเสบ หอบหืด ภูมิแพ้หรือโรคผิวหนัง นอกจากนี้มีรายงานว่าแมลงสาบสามารถเป็นโฮสต์กึ่งกลาง (intermediate host) ของพยาธิหลายชนิด เช่น พยาธิปากขอ (Ancylostoma duodenale) พยาธิไส้เดือนกลม (Ascaris lumbricoides) พยาธิตืดแคระ (Hymenolepis nona) พยาธิตืดวัว (Taenia saginata) พยาธิใบไม้โลหิต (Schistosoma haematobium) เป็นต้น
วงจรชีวิตของแมลงสาบ
จากรายงานการวิจัยในประเทศไทยและต่างประเทศ พบว่าแมลงสาบเป็นตัวการสําคัญที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืดโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก แมลงสาบจะปล่อยสารก่อภูมิแพ้ (allergen) ออกมาสู่บริเวณที่เดินผ่านหรือฟุ้งลอยอยู่ในอากาศ เมื่อมนุษย์สัมผัสสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาพอสมควรจะทําให้เกิดโรคดังกล่าวได้ สารก่อภูมิแพ้เหล่านี้เชื่อว่าเกิดมาจาก มูลหรือสารบางอย่างบนตัวของแมลงสาบ ผลการวิจัยจากหลายๆ รายงานพบว่า มีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ และโรคหอบหืดจํานวนไม่น้อยให้ผลการทดสอบที่เป็นบวกต่อการทดสอบกับสารก่อภูมิแพ้ที่สกัดจากแมลงสาบอเมริกันและแมลงสาบเยอรมัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแมลงสาบทั้งสองชนิดนี้เป็นตัวการสำคัญหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคดังกล่าวของมนุษย์
วงจรชีวิตแมลงสาบประกอบด้วย 3 ระยะ คือ ไข่(egg) ตัวอ่อนหรือตัวกลางวัย (nymph) และตัวเต็มวัย (adult) ตัวอ่อนมีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย โดยตัวอ่อนระยะแรกที่ออกจากไข่จะยังไม่มีปีกเมื่อผ่านการลอกคราบ 2-3 ครั้ง จะเริ่มมีปีกและอวัยวะสืบพันธุ์ค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นจนเป็นตัวเต็มวัยที่มีปีกเจริญเต็มที่และอวัยวะสืบพันธุ์สมบูรณ์
ไข่ของแมลงมีปลอกหุ้มเรียกว่า ฝักไข่ (ootheca) ลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วส่วนมากมีสีน้ำตาลแดง จํานวนของไข่แต่ละฝักจะแตกต่างกันในแต่ละชนิด โดยทั่วไปจะมีประมาณฝักละ 16 – 30 ฟอง แมลงสาบสามารถวางไข่ได้หลายชุด บางชนิดอาจจะวางเพียง 4 – 8 ชุด แต่บางชนิดอาจวางไข่ได้มากถึง 90 ชุด บางชนิดจะนําฝักไข่ติดตัวไปด้วยจนไข่ใกล้จะฟักจึงจะปล่อยออกจากลำตัว ลักษณะการวางไข่ของแต่ละชนิดแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ชอบวางไข่ในตู้ทึบ ลิ้นชักหรือกล่องกระดาษ เป็นต้น นอกจากนี้อาจวางไข่อยู่ตามซอกหรือมุมห้อง บางครั้งอาจจะวางไข่ติดกับฝาผนังหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้ ไข่ของแมลงสาบจะฟักภายในระยะเวลา 1 – 3 เดือน
ตัวอ่อนของแมลงสาบที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ มีสีขาวและไม่มีปีก เมื่ออายุได้ 3 – 4 สัปดาห์จะมีการลอกคราบเกิดขึ้น การลอกคราบนี้เกิดขึ้นหลายครั้งจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย จำนวนครั้งในการลอกคราบของตัวอ่อนและระยะเวลาที่ใช้ในการเจริญเติบโตจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยแตกต่างกันตามแต่ละชนิดของแมลงสาบ
แมลงสาบตัวเต็มวัยมีลำตัวแบนรีรูปไข่ ความยาวของลำตัวตั้งแต่ 1 – 8 เซนติเมตร มีสีต่างๆ กันตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนจนถึงดำ บางชนิดอาจมีสีอื่นที่ค่อนข้างแปลกตา เช่น สีส้มหรือสีเขียว โดยทั่วไปแมลงสาบตัวเมียจะอ้วนกว่าตัวผู้ หัวมีลักษณะคล้ายผลชมพู่ คือ ด้านบนป้าน ส่วนด้านล่างเรียวลง สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ส่วนหัวจะติดกับส่วนอกโดยมีส่วนคอเล็กๆ เชื่อมอยู่ แมลงสาบอาจมีปีกหรือไม่มีปีกก็ได้ ปกติพวกที่มีปีกเจริญดี จะมีปีก 2 คู่ ปีกคู่แรกจะแข็งกว่าปีกคู่หลังทั้งนี้ปีกคู่หลังมีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ ซ้อนทับอยู่ใต้ปีกคู่แรก ปีกของแมลงสาบจะปกคลุมลําตัวด้านบนไว้เกือบทั้งหมดและบางชนิดอาจมีปีกที่กุดสั้นก็ได้ แม้ว่าแมลงสาบจะสามารถบินได้ก็ตาม แต่โดยทั่วไปแล้วมักเดินหรือวิ่งมากกว่า จะบินกรณีที่ถูกรบกวนเท่านั้น
แมลงสาบมีขา 3 คู่ ขาคู่หน้าเล็กกว่าขาคู่หลัง ขามีลักษณะเป็นขาสําหรับวิ่งจึงทำให้แมลงสาบวิ่งได้เร็วมาก มีหนวดยาวเรียวแบบเส้นด้าย 1 คู่ มีขนเล็กๆ จำนวนมากอยู่รอบๆ
หนวด ปากมีลักษณะเป็นแบบกัดเคี้ยว สามารถกินอาหารได้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ แต่ส่วนมากชอบกินเศษอาหารประเภทแป้งหรือน้ำตาล ซากสัตว์หรือแมลงที่ตายแล้ว น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ กระดาษหรือแม้แต่ผ้า เป็นต้น แมลงสาบมีนิสัยชอบกินอาหารและถ่ายอุจจาระออกมาตลอดทางที่เดินผ่าน ชอบออกหากินเวลากลางคืนและมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แต่มีบางชนิดที่ออกหากินในเวลากลางวัน
แมลงสาบมีแหล่งกําเนิดอยู่ในเขตอบอุ่น ปัจจุบันพบว่ามีการแพร่กระจายไปทั่วโลก อาจจะติดไปกับสินค้าจําพวกหีบห่อหรือลังไม้ที่ขนส่งไปทางเรือหรือรถบรรทุก อย่างไรก็ตามยังคงพบแมลงสาบในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนมากกว่าพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น แมลงสาบชอบอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน ท่อระบายน้ำ ร้านขายของชำ ร้านอาหาร ห้องครัวในโรงพยาบาลหรือโรงแรม โกดังเก็บสินค้าทางการเกษตรหรือกระดาษ เป็นต้น ชอบอาศัยในที่มืด อบอุ่นและมีความชื้นสูง ถ้าพบเห็นแมลงสาบแม้เพียงเล็กน้อยในเวลากลางวันแสดงว่าพื้นที่นั้นมีแมลงสาบชุกชุม นอกจากนี้การที่จะดูว่าแมลงสาบมีความชุกชุมหรือไม่ ยังสังเกตได้จากการพบซากของแมลงสาบที่ตายแล้ว คราบที่ลอกเมื่อแมลงสาบมีการเปลี่ยนวัย ฝักไข่ที่ฟักแล้วรวมทั้งมูลของแมลงสาบ
วิธีการควบคุมปัญหาแมลงสาบเบื้องต้นสำหรับผู้อยู่อาศัย
การควบคุมโดยวิธีการสุขวิทยาและสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม (sanitation management)
โดยใช้หลักการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม (5ส) ดังนี้
สะสาง
แยกและขจัดทิ้งของที่ไม่จำเป็นเพื่อมิให้สกปรกรกรุงรังอันจะเป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์ของแมลงสาบ
สะดวก
จัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ เป็นระยะห่างระยะเคียงที่เหมาะสมและจัดวางบนชั้นเพื่อให้สามารถสำรวจปัญหาแมลงได้โดยง่าย ไม่ควรวางสิ่งของชิดติดผนังหรือวางบนพื้นโดยตรง
สะอาด
ทำความสะอาดอาคารสถานที่ทั้งภายในและภายนอก กำจัดแหล่งน้ำ แหล่งอาหารและแหล่งหลบซ่อนของแมลงสาบ จัดให้มีโปรแกรมการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำเพื่อป้องกันการอุดตันหรือหมักหมมของเศษขยะและอาหาร
สุขลักษณะ
จัดสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานและที่พักอาศัยให้สะอาดถูกหลักอนามัย เน้นการดูแลจุดสำคัญ ดังนี้
- อุด ปิดกั้น สกัดกั้นการปิดการเข้า-ออก ซ่อมแซมรอยแตก รอยร้าวหรือรอยทรุดตัวของอาคารไม่ให้เป็นแหล่งหลบซ่อนพักอาศัยของแมลง
- จัดที่ทิ้งขยะที่มีฝาปิดมิดชิด นำไปทิ้งในเวลาที่เหมาะสม ขยะเปียกและขยะประเภทเศษอาหาร ควรมีห้องขยะที่สามารถปิดกั้นไม่ให้เข้ามาระบาดได้
สร้างนิสัย
ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การจัดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในหน่วยงานอย่างต่อเนื่องและช่วยกันดูแลสอดส่องไม่ให้มีกาาระบาดของแมลงในพื้นที่ที่รับผิดชอบของตนเอง
การควบคุมโดยวิธีกายภาพ
- สำรวจตรวจสอบวัสดุ สิ่งของ สินค้าและวัตถุดิบที่จะนำเข้ามาสู่อาคารว่ามีแมลงสาบหรือไข่ของแมลงสาบติดเข้ามาด้วยหรือไม่
- ใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดจับแมลงสาบที่แหล่งหลบซ่อนหรือเมื่อพบเห็นตัว